ณ อรุณรุ่งแห่ง "คู่กรรม" สู่บริบูรณ์ของความรัก "โกโบริ-อังศุมาลิน" ในราวพุทธศักราช ๒๕๐๘ ทมยันตี มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี และเข้าเยือนความวิเวก ณ สุสานนานาชาติที่ทอดร่างของเหล่าทหารสัมพันธมิตร ที่แห่งนั้น สร้างแรงบันดาลใจจนเป็นต้นกำเนิดของนวนิยายเรื่องเยี่ยม "คู่กรรม" "แสงสว่างแห่งชีวิตอุบัติขึ้น และบัดนี้ แสงสว่างนั้น ได้ดับลงแล้ว ฝากรอยจูบและหยดน้ำตา มากับกลีบกุหลาบทุกกลีบ" ถ้อยคำหอมหวานที่อมความเศร้าไว้อย่างลุ่มลึกในความรู้สึกนี้ เขียนไว้บนการ์ดใบหนึ่ง ซึ่งผูกติดกับดอกไม้ช่องาม วางบนหลุมฝังศพของบุคคลอันเป็นที่รัก และได้จุดประกายความคิดของทมยันตี "ทำให้นึกถึงภาพผู้ชายคนหนึ่งเดินทางมาไกลแสนไกล ไกลมาก จากเมืองหนาว แต่มาทิ้งร่างไว้ ณ ดินแดนอันสว่างไสวด้วยแสงอาทิตย์ นึกถึงสงคราม นึกถึงคนที่ดีที่ต้องมาโศกเศร้าเสียใจ พ่อแม่ ลูกเมีย หรือเจ้าของช่อดอกไม้ที่ส่งมาวางบนหลุมฝังศพว่า เขาพวกนั้นจะเกลียดสงครามแค่ไหน สงครามนำความทุกข์ให้กับผู้คนเท่าไหร่ พอเกิดแรงบันดาลใจขึ้น ก็เริ่มสมมุติตัวละคร จนเป็น "คู่กรรม" ขึ้น บัดนั้นจึงเกิด "โกโบริ" หนุ่มเข้ม ผิวสะอ้าน แห่งแดนอาทิตย์อุทัย ดินแดนของยอดเขาฟูจิอันเลื่องลือ ก็ย่างเข้ามาในผืนแผ่นดินไทย พร้อมกับกลิ่นไอของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในฐานะนายทหารเรือหนุ่ม โกโบริ ทิ้งร่าง ณ ดินแดนสว่างไสวด้วยแสงพระอาทิตย์ ทิ้งหัวใจมั่นคง...อนาตะ โออาอิชิ มาสุ...ฉันรักเธอเสมอ ไว้กับ "อังศุมาลิน" ผู้หญิงไทย ซึ่งกว่าจะรู้ว่าหัวใจมีไว้เพื่อใคร ก็ทิฐิจนช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นช่างแสนสั้นเหลือเกิน จึงกล่าวได้ว่า "คู่กรรม" เป็นสุดยอดของนวนิยายเมืองไทย ที่ได้รับการขานรับจากผู้อ่านทุกระดับ สี่สิบปีที่ผ่านมา ชื่อของนวนิยายเรื่องนี้ไม่เคยตกชั้นจากความนิยมเลยสักวินาทีเดียว ลมหายใจของนักอ่านนิยายเมืองไทย มี "คู่กรรม" เคียงคู่อยู่เสมอ เฉกเช่นเดียวกับ "ทมยันตี" นามที่ครองหัวใจมาแล้วกว่าสี่ทศวรรษ ดังนี้ ด้วยความสำเร็จยิ่งใหญ่ตลอดกาลของ "คู่กรรม" ด้วยการครองความนิยมสูงสุดตลอดมาของ "ทมยันตี" การตวัดปากกาจรดหมึกสีม่วงลงบนกระดาษ และหลั่งไหลออกมาเป็น "คู่กรรมภาคสอง" เมื่อปี ๒๕๓๕ จึงคงความสำคัญยิ่ง และหนึ่งในความสำคัญยิ่งในครั้งนั้นก็คือ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นสำนักพิมพ์คลื่นลูกใหม่ เป็นที่ยอมรับอย่างยิ่งก็ด้วยแรงขับและศักยภาพมหาศาลของนวนิยายเรื่องนี้ และด้วยความไว้วางใจอย่างยิ่งจาก "ทมยันตี" ผู้ประพันธ์และคุณประพนธ์ วิพัฒนพร ที่สนับสนุนอย่างเต็มหัวใจในทุกวิถีทาง วันนี้ "คู่กรรมภาคสอง" ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งเป็นครั้งที่หก ขณะที่ "คู่กรรม" ได้รับการพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สิบสาม ตลอดเส้นทางเดินของนวนิยายที่ยาวนาน ๔๐ปีของ "คู่กรรม" และ ๑๐ ปีเต็มของ "คู่กรรมภาคสอง" นั้น นวนิยายทั้งสองเรื่อง ได้รับความนิยมและการยอมรับตลอดมาอย่างสม่ำเสมอ ย่อมนับเป็นตำนานที่เชื่อมวัยวันแห่งประวัติศาสตร์เข้ากับสภาพแห่งปัจจุบันได้อย่างดี มุมหนึ่งของ "คู่กรรม" ทั้งสองภาค จึงเป็นนวนิยายรักที่ให้ความรู้สึกสละสลวย มุมหนึ่งของ "คู่กรรม" ทั้งสองภาค จึงคือภาพสะท้อนบทบาทอันขมขื่นของสงคราม ขณะที่อีกมุมหนึ่ง "คู่กรรม" บันทึกบางมุมของการเมืองไทย บันทึกหลากหลายแห่งวัฒนธรรมไว้ให้ผู้สนใจศึกษาถึงแก่นแท้มาจนเท่าทุกวันนี้ ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์รวมเล่ม "คู่กรรมภาคสอง" อีกครั้ง ณ พุทธศักราช ๒๕๔๔ และขอบันทึกไว้ตรงนี้ว่า นวนิยายทั้งสองเรื่องนี้ จะตรึงอยู่ในความทรงจำอันแสนดีของผู้อ่าน อีกนานนับร้อยๆ ปี "สัญญาของผมเป็นสัญญาเสมอ" ให้ความรู้สึกอบอุ่นเช่นนี้บังเกิดกับคุณเช่นกัน
|