เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธนฺมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีตันมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนตันที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งอยู่ตระหง่าน แสดงว่าสิ่งใดดี มีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่ง และจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
พระมหาชนกบำเพ็ญวิริยบารมีที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จนกระทั่งได้ทรงครองราชสมบัติ และนำความเจริญมั่งคั่งแก่กรุงมิถิลาด้วยพระปรีชาสามารถ
มาถึงตอนเรื่องต้นมะม่วง พระบาทสมแด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงโมกขธรรม ยังไม่ถึงวาระเวลาอันสมควร เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน กล่าวคือข้าราชบริพาร "นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้างคนรักษาม้า และนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์ ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการทั้งทางปัญญา ยังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ" อนึ่ง พระมหาชนกยังต้องทรงปรารภเรื่องการอนุบาลต้นมะม่วงตามวิธีสมัยใหม่ เก้าวิธีอีกด้วย
ด้วยประการเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงดัดแปลงเนื้อเรื่องในมหาชนกชาดก ให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน โดยที่พระราชดำริว่า พระมหาชนกจะบรรลุโมกขธรรมได้ง่ายกว่าหากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน
รูปที่ประกอบเรื่องเป็นฝีมือของศิลปินไทย ซึ่งได้ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังความคิดอย่างเต็มที่ เพื่อถ่ายทอดความงามของเรื่องนี้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล ให้เป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของสาธุชนทั้งหลาย