"สีฟ้า" ตั้งใจเขียน มุกดามะดัน เพื่อเป็นการบันทึกเหตุการณ์การเมืองในยุค "ฟ้าสีทองผ่องอำไพ" เป็นต้นมา โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง และต้องการสะท้อนภาพว่านักการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร นั่นหมายถึง นักการเมืองที่ดีต้องมีอุดมการณ์ รู้จักหน้าและตั้งใจทำงานให้กับประเทศชาติ เพื่อให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด โดย "สีฟ้า" ได้แสดงแนวความคิดเกี่ยวกับสังคมและการเมือง ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง ผ่านปากตัวละคร โดยเฉพาะ "มุกดา" ตัวละครหญิงที่มีความสนใจทางการเมืองอย่างเข้มข้น และยังเป็นหัวคะแนนให้กับ "บันลือ ศรีถิ่นฐาน" ผู้เป็นบิดาที่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้เป็น ส.ส. ถึง 3 สมัยด้วยกัน แต่ครั้งหลังสุดได้ย้ายพรรคที่เคยสังกัดอยู่ ไปเข้าพรรคนายทุน และทำให้หลงระเริงกับอำนาจของความเป็น "ส.ส." จึงได้เกิดความประพฤติมิชอบเกิดเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการผิดศีลข้อ 3 จึงทำให้เกิดการถูกลอบฆ่าตาย ซึ่งทำความเสียใจแก่ "มุกดา" เป็นอันมากในการเปลี่ยนไปของบิดาครั้งนี้ และทำให้ "มุกดา" ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเปิดเผยความจริงทั้งหมดของบิดา ขณะเดียวกันก็ได้ขอโอกาสพิสูจน์ความตั้งใจและอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอกับชาวบ้าน จนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับต้องแลกการตัดขาดความเป็นแม่ลูกกัน ระหว่าง "มาลี" ผู้เป็นแม่ กับ "มุกดา" ซึ่ง "มาลี" โกรธ "มุกดา" มาก ที่ได้เปิดเผยเรื่องราวอันเสื่อมเสียของ "บันลือ" ผู้เป็นทั้งสามีของเธอและบิดาของ "มุกดา"
|